- หน้าแรก
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- รายละเอียดข่าว
สศท.9 แจงมูลค่าสินค้าเกษตรด่านศุลกากรสะเดา ชู ยางพารา ส่งออกมากสุด รวมกว่า 1ล้านตัน
ข่าวที่ 166/2559 วันที่ 1 ธันวาคม 2559
สศท.9 แจงมูลค่าสินค้าเกษตรด่านศุลกากรสะเดา ชู ยางพารา ส่งออกมากสุด รวมกว่า
1ล้านตัน
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่
9 เปิดผลการวิจัยแนวทางพัฒนาการเกษตรจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กรณีศึกษา
เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา แจงมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรผ่านชายแดนไทย-มาเลเซีย ผ่านด่านพิธีการศุลกากรสะเดา มูลค่ารวม
36,235 ล้านบาท โดยยางพารามีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดถึงร้อยละ 65
ปริมาณการส่งออกรวมกว่า 1 ล้านตัน
นายคมสัน
จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เปิดเผยผลการวิจัยแนวทางพัฒนาการเกษตรจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กรณีศึกษา
เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา
(สศท.9) ได้ศึกษาสถานการณ์การค้ายางพารา
ผ่านด่านการค้าชายแดนด่านพิธีการศุลกากรสะเดาและด่านพิธีการศุลกากรปาดังเบซาร์ และศึกษาการบริหารจัดการด้านการส่งออกสินค้ายางพาราในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาเพื่อเสนอแนะแนวทางพัฒนาการเกษตรจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา
สำหรับปี
2558 มูลค่าการค้าสินค้าเกษตรผ่านชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่ผ่านด่านพิธีการศุลกากรสะเดา
จังหวัดสงขลา มีมูลค่า 36,235 ล้านบาท ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 18
โดยยางพารามีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดถึงร้อยละ 65 ปริมาณการส่งออกรวม 1,007,126 ตัน
มีการส่งออกไปยังประเทศจีนจำนวน 503,035 ตัน (ร้อยละ 50) รองลงมาส่งออกประเทศมาเลเซียจำนวน
239,365 ตัน (ร้อยละ 24) ญี่ปุ่น ส่งออกจำนวน 62,644 ตัน (ร้อยละ 6) สหรัฐอเมริกา จำนวน 19,503 ตัน (ร้อยละ 1.94)
และส่งไปประเทศอื่นๆ รวม 53 ประเทศ จำนวน
182,579 ตัน (ร้อยละ 18) โดยชนิดของน้ำยางที่ส่งออกแบ่งเป็น น้ำยาง ร้อยละ 41
ยางแท่งร้อยละ 34 ยางแผ่น ร้อยละ 10
ยางผสม ร้อยละ 13 และยางอื่นๆ ร้อยละ 1
ด้านการพัฒนาปรับปรุงในเรื่องพิธีการส่งออก
กรมศุลกากรได้พัฒนาจากระบบ Manual มาใช้ระบบ Electronic
Data Interchange (EDI) และพัฒนามาใช้ระบบ National single
windows (NSW) โดยการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์
(Paperless) มีการเชื่อมโยงข้อมูลแบบไร้เอกสารผ่านระบบ NSW
แล้ว 36 หน่วยงาน สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มี 4 หน่วยงาน คือ
การยางแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร
กรมประมง และกรมปศุสัตว์
สำหรับยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการ
ประกอบด้วยกลยุทธ์ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา ครบวงจร
กลยุทธ์พัฒนาศักยภาพด้านภาษาการบริการให้บุคลากรและผู้เกี่ยวข้อง
และกลยุทธ์เร่งปรับปรุงระบบ One Stop Service และ National
Single Windows ทั้งนี้
จากการศึกษา พบว่า ควรมีการพัฒนาพื้นที่ และโครงสร้างพื้นฐาน
และระบบโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์อย่างเร่งด่วน เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและพื้นที่การค้าภายใต้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
ตลอดจนการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัยให้มีการพัฒนา เกิดการบริหารแบบเบ็ดเสร็จ
(One Stop Service) ซึ่งท่านที่สนใจผลการศึกษาดังกล่าว
สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา โทร.
074 312 996 อีเมล zone9@oae.go.th
*********************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา